28 พ.ค. 2559

งูลายสาบคอแดง

งูไทยใจกล้า : 13:20 | หัวข้อ :

งูลายสาบคอแดง 

  • ชื่ออื่น : งูคอแดง
  • ชื่อสามัญ : Red-necked keelback snake
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhabdophis subminiatus (Schlegel, 1837)
  • ชื่อวงศ์ : Colubridae ชื่ออันดับ: Squamata
  • ชื่อชั้น : Reptilia ชื่อไฟลัม : Chordata



ลักษณะ 
เป็นงูพิษเขี้ยวหลัง เขี้ยวพิษขนาดเล็กอยู่ตรงตำแหน่งใต้ตา มีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 80 เซนติเมตร ส่วนหัวกว้างกว่าลำคอ ตัวเต็มวัยมีส่วนหัวสีเขียว ด้านท้ายของหัวและส่วนต้นของลำคอสีเทาอมเหลือง ด้านข้างของส่วนหัวบริเวณใต้ตาเห็นเป็นแถบสีดำ



ลำคอและส่วนต้นของลำตัวมีสีแดง ซึ่งเป็นที่มาของชื่องูลายสาบคอแดง บนหลังและทางด้านบนของหางมีสีเทาอมเขียว มีลวดลายเป็นขีดสีเหลืองกับขีดสีดำกระจายอยู่บนหลัง ซึ่งส่วนต้นของลำตัวมีมากกว่าส่วนท้ายของลำตัว



งูวัยอ่อนมีลำคอสีส้มอมแดง โดยมีสีเหลืองอยู่ทางด้านหน้า และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และสีส้มอมแดงทางด้านท้าย และทางด้านหน้าของสีเหลืองหรือส่วนตันของลำคอเป็นแถบกว้างสีดำ


การแพร่กระจาย 
จีน, เนปาล, ภูฏาน, อินเดีย, เมียนมาร์, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะซุนดา เกาะนิวกินี, ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค


พื้นที่อาศัย ใกล้แหล่งน้ำ 


นิสัย 
หากินอยู่บนพื้นดินในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำและกินสัตว์น้ำ (กบ เขียด) ออกหากินเวลากลางวัน และหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มพรรณพืชใกล้แหล่งน้ำ เมื่อถูกรบกวนจะยกหัวและลำตัวสูงขึ้นจาก พื้นดิน ลำคอแบนราบและขยายกว้างกว่าลำตัวเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้มองเห็นสีของผิวหนังระหว่าง แผ่นเกล็ดที่เป็นสีแดง เป็นงูที่น้ำพิษมีความเป็นพิษค่อนข้างรุนแรง


สถานภาพ 
ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และไม่มีสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของ Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning (2005) และตามเกณฑ์ของ IUCN (2008) ในพื้นที่สถานี วิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชพบได้บ่อยครั้ง


ลักษณะพิษของงู
เป็นงูที่น้ำพิษมีความเป็นพิษค่อนข้างรุนแรง มีพิษต่อระบบโลหิต ทำให้เลือดไม่แข็งตัว เช่น มีอาการเลือดไหลไม่หยุดจากรอยแผลที่งูกัด จากรายงานพบว่าต้องถูกงูกัดหลาย ๆ ครั้ง หรือกัดอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จึงจะได้รับพิษเพียงพอที่จะทำให้อาการเลือดไม่แข็งตัว เลือดไหลไม่หยุด ผู้ป่วยแต่ละรายที่มีในรายงานเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดค่อนข้างรุนแรงและเป็นเวลานาน บางรายนานถึง 4-5 สัปดาห์ บางรายมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดออกในกล้ามเนื้อจนก้อนเลือดกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการขาอ่อนแรง แต่ไม่มีรายงานเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่นในสมอง และไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต มีรายงานว่าพิษของงูชนิดนี้อยู่นานถึง 63 วัน ผลเลือดจึงกลับเป็นปกติ


 การรักษาผู้ได้รับพิษงู 
ยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษงูโดยเฉพาะ การรักษาภาวะเลือดไหลไม่หยุดเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ยังไม่มีแนวทางที่แน่นอน แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

ขอบพระคุณที่มาจาก

http://stpark.wu.ac.th/page/web/view/10058

siamensis

google

ทุกๆเครดิตรูปภาพ ขอบคุณมากครับ

google+

linkedin

บทความที่ได้รับความนิยม